top of page
ความสำคัญ
ประเพณีวิ่งควาย เป็นประเพณีเกี่ยวกับอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งตกทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน จุดมุ่งหมายเพื่อให้ชาวบ้านได้เตรียมของไปถวายวัด ปัจจัยไทยธรรมได้พักผ่อนและได้สังสรรค์กันระหว่างชาวบ้านซึ่งเหนื่อยจากงานและให้ควายได้พักเนื่องจากต้องตรากตรำในการทำนา ปัจจุบันประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีของจังหวัดชลบุรี โด่งดังเป็นที่รู้จักของชาวไทยและต่างประเทศ

พิธีกรรม

ประเพณีวิ่งควาย จะจัดในช่วงเช้า เพื่อให้ควายได้พักจากการไถนา ชาวไร่ชาวนาจะนำควายมาประดับตกแต่งอย่างสวยงาม ชาวไร่ชาวนาที่มาด้วย ก็ขี่ควายเดินไปตามตลาดและวิ่งอวดประกวดกันเป็นที่สนุกสนาน ปัจจุบันนำควายมาประกวดความสมบูรณ์และประลองฝีมือโดยจัดให้มีการแข่งขันวิ่งควาย

สาระ

แสดงถึงความสามัคคีของชาวไร่ชาวนาได้มีโอกาสพบปะกัน และแสดงเมตตาต่อผู้มีบุญคุณ คือควายเพื่อให้ควายได้พักผ่อน ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ ก่อนออกพรรษา ซึ่งเป็นวันใกล้สิ้นฤดูฝนจะย่างเข้าฤดูหนาว ประเพณีวิ่งควายเป็นประเพณีที่จัดเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ เหตุที่เลือกเอาวันนี้เพราะเป็นวันพระ ชาวไร่ชาวนาเอาควายมาเทียมเกวียนบรรทุกกล้วย มะพร้าว ใบตอง ยอดมะพร้าว มาขายเพื่อคนในเมืองจะได้ซื้อไปห่อข้าวต้มหาง ทำบุญตักบาตร วันเทโวโรหนะ วันออกพรรษาขากลับจะได้มีโอกาสซื้อของไปทำบุญเลี้ยงพระตามวัดวาอารามใกล้เคียงในวันพระ และวันออกพรรษา ประเพณีวิ่งควาย ปัจจุบันในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี จัดขึ้นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๑ อำเภอบ้านบึงจัดวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ตลาดหนองเขิน ตำบลหนองชาก อำเภอบ้านบึง จัดวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ วัดกลางดอน ตำบลแสนสุข อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี จัดวิ่งควายในการทอดกฐินประจำปีของวัด

ประเพณีภาคกลาง

 ความสำคัญ

ประเพณีรับบัวโยนบัวเป็นประเพณีประจำท้องถิ่นของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาจากผู้เฒ่าผู้แก่บางพลีว่า เกิดขึ้นประมาณ 80 ปีมาแล้ว เพื่อเป็นการนมัสการหลวงพ่อโต เล่ากันว่าเป็นพี่น้องกับหลวงพ่อโสธรแปดริ้ว และหลวงพ่อวัดบ้านแหลมสมุทรสงคราม

 ตำนานกล่าวว่า หลวงพ่อโตลอยตามน้ำเจ้าพระยา มาหยุดที่ปากคลองสำโรงลอยอยู่แถว ๆ นั้น เป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะจำพรรษาอยู่ละแวกนั้นอย่างแน่นอน ชาวบ้านจึงช่วยกันชักรั้งนิมนต์เข้ามาจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานปัจจุบัน แล้วอัญเชิญขึ้นไว้ในโบสถ์ หลวงพ่อโตจึงเป็นหลวงพ่อของชาวบางพลีตั้งแต่นั้นมา 

ความสำคัญ

การตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีการถวายน้ำผึ้งแก่ภิกษุและสามเณร ของชาวรามัญที่วัดพิมพาวาส อำเภอบางปะกง สืบเนื่องมาจากความเชื่อว่าในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จประทับที่ป่าเลไลย์ มีช้างและลิงคอยอุปัฏฐากโดยการนำเอาอ้อยและน้ำผึ้งคอยถวาย ต่อมาจึงทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุสามเณรรับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้

พิธีกรรม

การตักบาตรน้ำผึ้งมักจัดกันที่ศาลาวัด ขณะที่พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์นั้น ชาวบ้านจะนำน้ำผึ้งมาใส่บาตร และนำน้ำตาลใส่ในจานที่วางคู่กับบาตร ส่วนอาหารคาวหวานจะใส่ในภาชนะที่วางแยกไว้อีกด้านหนึ่ง อาหารพิเศษที่นำมาใส่บาตร ได้แก่ ข้าวต้มมัด ถวายเพื่อให้พระฉันจิ้มกับน้ำผึ้งหรือน้ำตาล

สาระ

การตักบาตรน้ำผึ้งเป็นกิจกรรมที่น้อมนำให้ระลึกถึงองค์ผู้มีพระภาคเจ้าที่มีความเกี่ยวข้องกับสัตว์เดียรัจฉาน สัตว์ยังรู้คุณค่าของศาสนาด้วยการเสาะแสวงหาภิกษาหารนำมาถวายพุทธองค์เพื่อได้สดับตรับฟังธรรม พุทธศาสนิกชนจึงนำรูปแบบของการนำปัจจัยมาถวายเพื่อจุดหมายการได้ฟังธรรมเทศนาเช่นกัน

ความสำคัญ

การก่อพระเจดีย์ทรายเป็นประเพณีที่ชาวไผ่ดำ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ได้กระทำสืบทอดกันมาแต่อดีตกาล วัตถุประสงค์เพื่อนำเอาทรายมาใช้ทำสาธารณประโยชน์ในวัดส่วนการก่อพระทรายข้าวเปลือก เป็นการทำบุญอย่างหนึ่งของชาวไผ่ดำ ที่นำเอาผลผลิตจากอาชีพการทำนา คือ ข้าวเปลือก มาก่อเป็นเจดีย์แทนทราย

พิธีกรรม

การก่อพระเจดีย์ทรายเนื่องจากสภาพท้องถิ่นของหมู่บ้านไผ่ดำ เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงจึงทำให้ไม่มีทรายอยู่ในบริเวณใกล้เคียงเลย การก่อพระเจดีย์ทรายของชาวไผ่ดำ จึงเปลี่ยนจากการขนทรายมาเป็นการซื้อทรายจากทางวัด ซึ่งที่วัดไผ่ดำจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าก่อน ว่าจะมีการการก่อพระเจดีย์ทรายในวันพระไหน เมื่อถึงวันกำหนดประชาชนก็จะไปทำบุญและก่อพระเจดีย์ทรายร่วมกัน จากนั้นก็มีการประกวดความสวยงามของพระเจดีย์ ว่าใครตกแต่งได้ดีกว่ากันการก่อพระทรายข้าวเปลือก ก็มีวิธีดำเนินการเช่นเดียวกัน คือ นัดวัน เมื่อถึงวันกำหนดชาวบ้านก็จะนำข้าวเปลือกใส่กระบุงไปวัด แล้วเอาไปเทกองรวมกันในที่วัดจัดไว้เป็นพระเจดีย์ ควบคู่ไปกับการทำบุญ ข้าวเปลือกที่ได้ทางวัดจะนำไปขาย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นปัจจัยมาใช้จ่ายในการทำนุบำรุงศาสนสถานของวัดต่อไป

สาระ

การก่อพระทรายข้าวเปลือก เป็นการทำบุญศาสนาของชาวบ้านด้วยการนำผลิตผลทางการเกษตรที่สำคัญ มาร่วมกันบริจาคเพื่อให้ทางวัดได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านการพัฒนา อีกทั้งสร้างนิสัยด้านการบริจาค ความสามัคคีแก่ผู้คนในชุมชน

ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง

ประเพณีก่อพระเจดีย์ทรายข้าวเปลือก

ประเพณีวิ่งควาย

ประเพณีรับบัว

bottom of page