top of page

ภาคใต้ เป็นดินแดนแห่งหมู่เกาะและท้องทะเลอันงดงาม อีกทั้งยังมีอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติมากมาย นอกจากนี้ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของชาวใต้ยังโดดเด่นมีเอกลักษณ์และเปี่ยมเสน่ห์ชวนให้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้อย่างใกล้ชิด จึงไม่น่าแปลกใจว่า ในแต่ละปีภาคใต้จัดเป็นอีกภาคที่มีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมาเที่ยวชมมากมาย

  ประเพณีแห่นก  
 

เป็นประเพณีนิยมที่ไม่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา แต่จัดขึ้นเป็นครั้งคราวตามโอกาส เพื่อความสนุกรื่นเริง   เป็นการแสดงออกเกี่ยวกับการใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในศิลปะและอาจจัดขึ้นในการแสดงความจงรักภักดี แก่ผู้ใหญ่ที่ควรเคารพนับถือ หรือในโอกาสต้อนรับแขกเมือง บางทีอาจจัดขึ้นเพื่อความรื่นเริงในพิธีการเข้าสุนัต หรือที่เรียกว่า “มาโซยาวี”   นกที่นิยมทำขึ้นเพื่อการแห่มีเพียง ๔ ตัว คือ นกกาเฆาะซูรอ หรือนกกากะสุระ , นกกรุดา หรือนกครุฑ , นกบือเฆาะมาศ หรือนกยูงทอง , นกบุหรงซีงอ หรือนกสิงห์

 
ประเพณีสารทเดือนสิบ
 

มีพื้นฐานมาจากความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่ว่า ในวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ พญายมจะปล่อย “เปรต” จากนรกภูมิให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องของตนในเมืองมนุษย์ และให้กลับขึ้นสู่นรกในวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ โอกาสนี้ ชาวบ้านจึงจัดให้มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับ พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย และญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว  งานบุญนี้ถือว่า  เป็นงานสำคัญวันหนึ่งวงศ์ตระกูล ในอันที่จะได้แสดงความกตัญญูกตเวทิตาจิตต่อบรรพชน เป็นงานรวมญาติ แสดงถึงความสามัคคี

ประเพณีลากพระ
 
วันลากพระ จะทำกันในวันออกพรรษา  คือ   วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ โดยตกลงนัดหมายลากพระไปยังจุดศูนย์รวม วันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ จึงลากพระกลับวัด   เป็นประเพณีทำบุญในวันออกพรรษา ปฏิบัติตามความเชื่อว่า เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปจำพรรษา ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อโปรดพระมารดา เมื่อครบพรรษาจึงเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ พุทธศาสนิกชนไปรับเสด็จ แล้วอัญเชิญพระพุทธเจ้า ประทับบนบุษบกแล้วแห่แหน
bottom of page